ศาลกีฬาโลกกำหนดวันตัดสินคดีแมนซิตี้โดนแบนเวทียุโรป
ศาลยุโรปบอกวันตัดสินเรือใบ แมนฯ ซิตี้ ใกล้ได้รู้ชะตากรรม หลังศาลกีฬาโลกกำหนดวันตัดสินคำอุทธรณ์โดนแบนเวทียุโรป 2 ซีซั่นออกมาแล้ว
ศาลอนุญาโตตุลาการกีฬาโลก (ซีเอเอส) จะพิจารณาตัดสินคำอุทธรณ์ของ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ กรณีที่โดนสหพันธ์ฟุตบอลยุโรป (ยูฟ่า) สั่งห้ามลงแข่งขันในศึก ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก หรือรายการอื่นๆ ในเวทียุโรปจำนวน 2 ฤดูกาล ระหว่างวันที่ 8-10 มิถุนายนนี้
ยูฟ่า ลงโทษ แมนฯ ซิตี้ ฐานทำความผิดอย่างรุนแรงต่อกฎควบคุมการเงิน หรือ “ไฟแนนเชียล แฟร์ เพลย์” จากการปลอมแปลงรายได้ในบัญชีระหว่างปี 2012-16 เพื่อที่จะได้ไม่โดนลงโทษจากกฎควบคุมการเงิน หรืออย่างน้อยจะได้โดนลงดาบสถานเบา โดยโทษแบนดังกล่าวจะมีผลในซีซั่น 2020/21 กับ 2021/22
นอกจากนั้น “เรือใบสีฟ้า” ยังถูกปรับเงินก้อนโตถึง 24.9 ล้านปอนด์ (ประมาณ 996 ล้านบาท) อีกด้วย อย่างไรก็ตาม สโมสรได้ยื่นอุทธรณ์ต่อ ซีเอเอส โดยมั่นใจในความบริสุทธิ์ของตัวเอง และหวังว่า ศาลกีฬาโลก จะเปลี่ยนคำตัดสินของ ยูฟ่า
ในเวลานี้ แมนฯ ซิตี้ รั้งอันดับ 2 ของตารางคะแนน พรีเมียร์ลีก ซึ่งจะได้ไปเล่นใน แชมเปี้ยนส์ ลีก ซีซั่นหน้า แต่ถ้า ซีเอเอส ยังยืนตามการลงโทษของ ยูฟ่า จะส่งผลให้อันดับ 5 ในลีกได้เลื่อนไปเตะถ้วยใหญ่ของยุโรป โดยเวลานี้ทีมที่รั้งดันดับ 5 คือ แมนฯ ยูไนเต็ด
แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ถูกสมาพันธ์ฟุตบอลยุโรป หรือ ยูฟ่า ลงโทษห้ามลงแข่งในศึกยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก ตลอด 2 ฤดูกาลหน้า (เริ่มตั้งแต่ฤดูกาล 2020-21) จากการทำผิดกฎ’ไฟแนนเชียล แฟร์เพลย์’ พร้อมปรับเงินอีก 30 ล้านยูโร
จากการสอบสวนของยูฟ่าพบว่าสโมสรมีการละเมิดคลับไลเซนซิงของยูฟาและกฎการเงินอย่างร้ายแรง ด้วยการใส่ตัวเลขรายได้จากสปอนเซอร์เกินจริงในบัญชีรายรับรายจ่ายของสโมสรในระหว่างฤดูกาล 2012 ถึง 2016 อีกทั้งยังไม่ให้การร่วมมือกับระหว่างทำการสอบสวน
หน่วยควบคุมการเงินของยูฟ่า (CFCB) เริ่มทำการสอบสวน แมนฯซิตี้ ตั้งแต่เดือนมีนาคมปี 2019 หลังจาก Der Spiegel สื่อประเทศเยอรมันอ้างว่ามีเอกสารข้อมูลหลุดจากเว็บไซต์ Football Leaks ที่บ่งชี้ได้ว่า ชีค มันซูร์ เจ้าของสโมสร “เรือใบสีฟ้า” จ่ายเงินตัวเองให้แก่ทีมโดยผ่านสปอนเซอร์อื่น ซึ่งขัดต่อกฏของยูฟ่า
โดยเอกสารที่หลุดออกมาพบว่าในฤดูกาล 2015-16 แมนฯซิตี้ มีรายรับจากสปอนเซอร์เพียง 8 ล้านปอนด์เท่านั้น โดยเงินส่วนที่เหลือมาจาก อาบู ดาบี กรุ๊ป ที่มี ชีค มันซูร์ เป็นเจ้าของ ซึ่งถือเป็นการฝ่าฝืนกฎ’ไฟแนนเชียล แฟร์ เพลย์’อย่างชัดเจน
กฎแฟร์เพลย์ทางการเงินเริ่มต้นใช้เมื่อฤดูกาล 2011 มีวัตถุประสงค์เพื่อควบคุมสมดุลทางการเงินของสโมสรในลีกยุโรปเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมในสนาม โดยกำหนดว่าแต่ละสโมสร (ที่จะมีสิทธิแข่งในฟุตบอลถ้วยยุโรป) ต้องไม่ขาดทุนเกินอัตราที่กำหนดไว้ โดยทุกสโมสรต้องใช้จ่ายแบบมีความสมดุลกับรายได้ที่ได้รับ เพื่อป้องกันการติดค้างค่าเหนื่อยและค่าตัวของนักเตะ
กฎนี้ยังบังคับให้สโมสรต้องถูกตรวจสอบสัญญาสปอนเซอร์ที่ทำกับบริษัทหรือองค์กรใดก็ตามที่เชื่อมโยงกับเจ้าของสโมสรเริ่มตั้งแต่ฤดูกาล 2013-14 เพื่อป้องกันไม่ให้สโมสรรับเม็ดเงินรายได้จากสัญญาเกินมูลค่าตามจริงในตลาด ซึ่งจะส่งผลต่อตัวเลขรายได้ในผลประกอบการของสโมสร ทำให้มีเม็ดเงินไปเป็นรายจ่ายได้เพิ่มขึ้น
แมนฯซิตี้ ไม่ได้บอกรายละเอียดเกี่ยวกับประเด็นที่ถูกกล่าวหากับสื่อมวลชนมากนัก โดยคาดว่าจะรอจนกว่าสิ้นสุดกระบวนการอุทธรณ์ โดยในแถลงการณ์ของสโมสรระบุว่า “รู้สึกผิดหวัง แต่ไม่แปลกใจ” กับคำตัดสินของยูฟ่า และเตรียมยื่นอุทธรณ์ต่อศาลกีฬาโลกโดยเร็วที่สุด
“แมนเชสเตอร์ ซิตี้ รู้สึกผิดหวัง แต่ไม่ประหลาดใจไปกับแถลงการณ์ของคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดยูฟ่าในวันนี้” ส่วนหนึ่งของแถลงการณ์ของแมนฯ ซิตี้ระบุ เมื่อเดือนธันวาคม 2018 หัวหน้าฝ่ายสืบสวนของยูฟ่า ได้มีการพูดถึงผลลัพธ์และบทลงโทษที่เขาตั้งใจจะจัดการกับแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ต่อสาธารณะ ก่อนที่การสืบสวนใดๆ จะเริ่มต้นด้วยซ้ำ
“พูดแบบง่ายๆ นี่คือคดีที่เริ่มต้นโดยยูฟ่า, ดำเนินคดีโดยยูฟ่า และตัดสินโดยยูฟ่า เมื่อกระบวนการที่ไม่เป็นธรรมนี้เสร็จสิ้นแล้ว สโมสรจะตามหาคำตัดสินที่เป็นธรรมให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ ดังนั้นในอันดับแรก เราจะมีการอุทธรณ์ต่อศาลกีฬาโลกให้เร็วที่สุด”
กฏของยูฟ่าระบุว่าสโมสรสี่อันดับแรกของพรีเมียร์ลีกจะได้ผ่านไปเล่นศึก ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก ในฤดูกาลถัดไป ซึ่งหาก แมนฯซิตี้ โดนแบน สิทธิจะไปอยู่ที่ทีมอันดับห้าของตารางคะแนน (ในกรณีที่ แมนฯซิตี้ จบฤดูกาลในสี่อันดับแรก)
กฎข้อ 4.08 ของยูฟ่า ระบุเอาว่า “สโมสรซึ่งไม่ถูกยอมรับให้เข้าแข่งขันนั้น จะถูกแทนที่โดยสโมสรที่ได้อันดับดีสุดทีมต่อไปของลีกภายในประเทศของสมาคมฟุตบอลเดียวกัน ถ้าสโมสรที่จะได้ลงเล่นแทนมีคุณสมบัติตรงตามเกณฑ์ที่กำหนดเอาไว้”
ตามกฏของยูฟ่า ทีมใดก็ตามที่เป็นแชมป์ ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก จะได้ผ่านเข้ามาเล่นรายการนี้อีกครั้งในฤดกาลหน้าแบบอัตโนมัติ โดยไม่ต้องคำนึงว่าจบอันดับที่เท่าไหร่ของลีกภายในประเทศ อย่างไรก็ตามในกรณีนี้ แมนฯซิตี้ จะยังไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าแข่งขันในฤดูกาลหน้า แม้จะสามารถคว้าแชมป์ได้ในฤดูกาลนี้ นอกจากนี้พวกเขายังไม่สามารถลงแข่งในรายการ ฟีฟ่า คลับ เวิลด์ คัพ 2020 และ ยูฟ่า ซูเปอร์คัพ ด้วย
จากรายงานของ Independent แมนฯซิตี้ มีสิทธิโดนลงโทษครั้งใหญ่อีกระลอก ด้วยการตัดแต้มในพรีเมียร์ลีก มีความเป็นไปได้สูงที่พรีเมียร์ลีก จะมีบทลงโทษของตัวเองต่อสโมสรที่ทำผิดกฏ ‘ไฟแนนเชียล แฟร์เพลย์’ ของยูฟ่า บทลงโทษอาจเป็นการตัดแต้มในพรีเมียร์ลีก หากการอุทธรณ์ของ แมนฯซิตี้ ต่อศาลกีฬาโลกไม่สำเร็จ ศาลยุโรปบอกวันตัดสินเรือใบ